วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

หมายจะปั้นให้มันเป็น : ละครเวทีที่ไม่ใช่แค่บันเทิง

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้มีโอกาสไปชมละครเวทีการกุศลคณะนิเทศศาสตร์ เวทีที่ 30 เรื่อง หมายจะปั้นให้มันเป็น (I'm Still Alive) ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 9-11 และ 16-18 กุมภาพันธ์ 2561  รอบ 13.30 และ 19.00 น. ณ อาคารหอประชุม SC มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ราคาบัตร 350 และ 450 บาท



เมื่อมาถึงบริเวณด้านหน้าของอาคารหอประชุมก็มีอาหาร ขนมขาย รวมถึงผลิตภัณฑ์และแบรนด์ต่างๆที่มาร่วมสนับสนุน มี Backdrop ให้ถ่ายภาพ รวมถึงจุดรับบัตรละครเวทีพร้อมรับสูจิบัตรของละครที่มีการพิมพ์สี่สีอย่างดีสวยงามหลังจากอ่านสูจิบัตรก็พบว่าเป็นการรวมตัวของรุ่นพี่ละครนิเทศฯแทบทุกรุ่นตั้งแต่ยุค 30 ปีที่แล้วจนมาถึงปีล่าสุด สมแล้วกับลำนำละครที่ว่า "มารวมกันด้วยจุดหมาย เก็บความชิงชังทั้งหลายไว้ก่อน ไม่รักคนขอให้รักละคร ดวงตาล้าอ่อนวอนวิง" ทุกคนมารวมกันเพื่อ "หมายจะปั้นให้มันเป็น" ละครครบรอบ 30 ปีของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 


Backdrop สำหรับถ่ายภาพเป็นที่ระทึก

จุดรับบัตรละครและสูจิบัตรด้านหน้าโรงละคร ทีมงานทำงานได้อย่างรวดเร็ว

หน้าตาของสูจิบัตรที่แนบมาด้วยแบบสอบถามและ
ของแจกเล็กน้อยของผู้สนับสนุน

เพิ่มความคึกคักบริเวณหน้าโรงละครด้วยการมี MC ทำหน้าที่เชิญชวน บอกเล่ารายละเอียดต่างๆ 

MC ประกาศเชิญชวนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับละครเวที
เวลาประมาณ 18.50 น. ผู้ชมก็เริ่มทยอยเข้าสู่อาคารหอประชุมที่ได้รับการแปรสภาพเป็นโรงละคร โดยมีการต่อเวทีออกมาและมีเก้าอี้นั่งของผู้ชมล้อมรอบเป็นรูปตัว U  การใช้พื้นที่ภายในโรงละครให้ความรู้สึกโล่งโปร่งสบายดี ไม่อึดอัด 

ผังที่นั่งของโรงละคร

เวทีตรงกลางและล้อมรอบด้วยที่นั่งผู้ชม

ละครเรื่องนี้เคยจัดแสดงขึ้นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นละครเวทีเรื่องแรกของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่มาปี 2561 มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ตรงกับยุคสมัยหรือเข้ากับยุค 4.0 ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของ สเตฟาน ว่าที่นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน ถูกจ้างโดย “โดนัลด์” หนุ่มเจ้าของบริษัทสร้างเกมออนไลน์รวมทั้งเป็นพี่ชายจอมวุ่นวาย ให้สร้างพล็อตเรื่องสําหรับเกมใหม่ที่สามารถพัฒนาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ตามกระแสความนิยมในปัจจุบันด้วยโจทย์ง่ายๆ “เอาเรื่องแบบ Game Of Thrones ผสม Lord Of The Rings” เบื้องต้น สเตฟานปฏิเสธเพราะรู้ดีว่าความคิดของเธอกับพี่ชายแตกต่างกันมาก เธอมองว่าพี่ชายของเธอเป็นคนฉาบฉวย ความสําเร็จของเขาไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรกับโลกมากนัก นอกเหนือจากความรํ่ารวยของตัวเอง แต่สุดทายเมื่อโดนัลด์ยื่นข้อเสนอที่เธอไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือเงินก้อนหนึ่งที่ทําให้เธอสามารถอยู่ได้ทั้งปีโดยไม่ต้องทํางานอื่น สเตฟานต้องการเวลาเพื่อสร้างงานเขียนของตัวเอง เธอจึงตกลงรับงานนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอคงใช้เวลาไม่นานสําหรับเกมไร้สาระแบบนี้
โดนัลด์ กับ สเตฟาน 
สเตฟานสร้างเรื่องราวของเกมนี้เป็นเรื่องของมหาบุรุษผู้กอบกู้ชาติ“วัสวาเดีย” ขึ้นมาให้เป็นเสมือนวีรบุรุษขี่ม้าขาวผู้มีจิตใจกล้าหาญและเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เมื่อเรื่องราวของเกมไม่ได้เป็นไปตามที่เธอคาดหวังไว้ และแล้วเหตุการณที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อโลกความจริงและโลกในจินตนาการของเธอถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน 
วัสวาเดีย มหาบุรุษผู้กอบกู้ชาติ  (ขอขอบคุณภาพจาก FB ของละครเวทีนิเทศศาสตร์)
วัสวาเดีย ตัวละครที่สเตฟานสร้างขึ้นมากลับมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ และร้องขออิสรภาพในการลิขิตชีวิตของตัวเอง สเตฟานจะเลือกทำอย่างไร เธอจะนําเรื่องราวไปสู่จุดจบอย่างที่เธอมุ่งหมาย มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวคร่าวๆของละครเรื่องนี้ 
โดยปกติแล้วผมค่อนข้างชอบดูละครเวทีที่เน้นบันเทิงเป็นหลัก แต่เมื่อชมไปเรื่อยๆ จะมีแง่มุมต่างๆที่ว่าด้วยเรื่อง คุณธรรม อำนาจ ความดี ความชั่ว พระเจ้ามีจริงหรือไม่ ในแต่ละฉากตัวละครแต่ละตัวได้ปล่อยความคิดมุมมองออกมาให้คิดได้ตลอดเวลา และถ้าคิดตามไปด้วยก็จะพบกับความจริงที่เราๆท่านๆได้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง และข้อสรุปของเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นจริงได้ทุกยุคทุกสมัยหรือเรียกว่า สาระของละครมีความร่วมสมัย 
นักแสดงที่รับบทบาทต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นรุ่นพี่ของครอบครัวละครเวทีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่กลับมารวมตัวกันเพื่อทำงานที่รักในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปี ควบคู่ไปกับฝึกฝนฝีมือให้กับน้องๆนักศึกษาปัจจุบันที่เป็นทีมงานของละครเวทีนี้ให้สามารถทำงานแบบมืออาชีพและพร้อมรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหาต่างๆได้  รุ่นพี่ละครเวทีนิเทศศาสตร์ที่ให้เกียรติรับหน้าที่เป็นประธานโครงการละครเวทีการกุศลครบรอบ 30 ปี คือ พี่ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ พี่นุ่น-ดารัณ ฐิตะกวิน รับบท สเตฟาน พี่เกลือ-กิตติ เชี่ยววงศ์กุล รับบท โดนัลด์ สลับกับ พี่ฮิม-อิทธิพัทธ์ จิรสุขประเสริฐ  พี่ณัฐ นวลแพง(กลุ่มเสาสูง) รับบท เงา 

และการมาชมละครครั้งนี้เป็นการตั้งใจมาดูการแสดงของ อาจารย์ปลี-วีรพงษ์ พวงเล็ก ที่รับบทกามูห์ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทพูดไม่กี่ฉาก แต่ออกมาเมื่อใดก็ฮาและเล่นได้แรงถึงใจจริงๆ อาจารย์ปลีเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ   



อาจารย์วีรพงษ์ พวงเล็ก (อ.ปลี) กับบทบาท กามูห์ หนึ่งในชาวบ้านเมืองคาเนีย
6 ความประทับใจกับละครเวทีการกุศล เรื่องที่ 30 หมายจะปั้นให้มันเป็น
ประทับใจที่ 1 แก่นของสาระที่นำมาถ่ายทอดและเชื่อมโยงกับเรื่องราว รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอในรูปแบบของการออกแบบเกม ซึ่งอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ทั้งในฐานะผู้เล่น และ ผู้สร้างสรรค์เกม จนอยากจะเห็นเกมนี้ออกมาวางขายจริงๆ

ประทับใจที่ 2 ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ต้องยอมรับว่าจุดเด่นที่ Strong เสมอมาของละครเวทีการกุศล คณะนิเทศศาสตร์ คือ ฉาก และเรื่องนี้ก็ได้คะแนนความแข็งแรงไปเต็มๆ ทั้งรูปแบบฉากที่อลังการ และเรียบง่ายแต่สื่อสารสถานการณ์ของละครได้ดี รวมถึง "ม้า" ที่มีความเหมือนจริง สมจริงมากในรายละเอียดต่างๆ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องทำให้ผู้ชมต้องร้อง WOW 
ม้าที่ได้รับการออกแบบได้อย่างสมจริงและเหมือนจริง


ประทับใจที่ 3 แสง เสียง เทคนิคพิเศษ เริ่มจาก แสง เมื่อผสมกับฉากทำให้ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์แบบในภาพรวมยิ่งขึ้น รอบที่ดูอาจจะมีความพลาดเรื่องระบบเสียง ไมโครโฟนอยู่บ้างแต่ไม่ได้ทำให้อรรถรสการชมละครเวที สำหรับเทคนิคพิเศษที่ช่วยเล่าเรื่องราวของละครครั้งนี้น่าจะเป็นการฉายภาพเล่าเรื่องของเมืองต่างๆผ่านแผนที่บนพื้นของเวที ผู้ชมที่นั่งแถวบนอาจจะเห็นรายละเอียดและภาพของแผนที่ได้ชัดเจนกว่าผู้ชมที่นั่งแถวล่าง



ประทับใจที่ 4 ฉากการต่อสู้ระหว่างวัสวาเดียกับตัวละครต่างๆ ในหลายๆฉากมีความ เป๊ะ ลงตัว ไม่ค่อยหลุดคิวเท่าไหร่ และดูมีพลังและมีสไตล์


ประทับใจที่ 5 เสื้อผ้าหน้าผม อันนี้ขาดไม่ได้แบบสุดๆ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความแข็งแกร่งและรักษาคุณภาพได่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความสวยงาม องค์ประกอบศิลป์ เมื่อมารวมตัวกับแสง ฉาก ทำให้เพิ่มพลังของความสวยงามและมีเสน่ห์ของละครเวทีเรื่องนี้ได้อีกเพียบ



ประทับใจที่ 6 การแสดงของทุกตัวละคร สำหรับการแสดงของนักแสดงทุกคนนั้นอยู่ในระดับมืออาชีพอยู่แล้ว เพราะนักแสดงแต่ละท่านก็ผ่านเวทีละครมาอย่างโชกโชน ดังนั้นในส่วนนี้วางใจได้



ขอชื่นชมและขอขอบคุณทีมงานทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง นักศึกษาปัจจุบันของละครเวทีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ตั้งใจ พยายาม และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีเสน่ห์และน่าสนใจทุกมิติ ทั้ง บทละครที่ให้มุมมองแง่คิดแบบ "จริง" ในทุกยุคทุกสมัย นักแสดงที่ถ่ายทอดบทละครได้อย่างละเอียดอ่อน ฉาก ที่มีทั้งเรียบง่าย อลังการ และเป็นองค์ประกอบที่ช่วย "ส่ง" "เสริม" "สนับสนุน" ให้ละครเรื่องนี้ดำเนินไปได้อย่างดี อุปกรณ์ประกอบฉาก เทคนิคพิเศษต่างๆ ที่มีความแปลกใหม่ที่นำมาใช้เล่าเรื่องราวของละครเรื่องนี้ได้อย่างกลมกลืน เสื้อผ้าที่ใช้ในการแบ่งแยกชาวเมือง ความดีความชั่ว แสงที่ทำให้ละครเรื่องนี้มีชีวิตชีวาในโทนอารมณ์ต่างๆ  เสียงที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับเรื่องราวในแต่ละฉากได้เป็นอย่างดี งานนี้เรียกว่า "สาระมา อารมณ์ครบ ปรบมือรัว" ครับ 


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook Fanpage ครอบครัวละครนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น