วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คนเดินลัดสนาม หญ้าตาย คนเดินลัดสนามไม่ผิด ผิดที่คนออกแบบ


คนเดินลัดสนาม หญ้าตาย คนเดินลัดสนามไม่ผิด ผิดที่คนออกแบบ
บ่อยครั้งที่การออกแบบ (Design) ของนักออกแบบไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมจริงของผู้ใช้สิ่งนั้นหรือผู้บริโภค สิ่งที่เกิดก็จะเหมือนในภาพด้านบนคือคนเลือกที่จะเดินลัดสนามจนเกิดเส้นทางใหม่ เราจะไม่ดราม่าและพูดเรื่องความมักง่าย ไม่มีวินัย เดินลัดสนามจนทำให้หญ้าตาย   

คำถาม : ทำไมคนเดินลัดสนาม 
คำตอบ : มันย่นระยะทาง ไม่อ้อม ไม่เหนื่อย ถึงจุดหมายเร็วกว่า
หรือหลักคิดง่ายๆ คือ ทำให้ง่าย สะดวกสบายในการใช้งานและบรรลุเป้าหมายของผู้ใช้งานหรือแก้ปัญหานั้นได้ 

ตัวอย่างการเดินลัดสนามสะท้อนให้เห็นว่า นักออกแบบอาจจะไม่เข้าใจพฤติกรรมของคน ยึดตามหลักการออกแบบให้สวยงามแต่สิ่งที่ออกแบบมาไม่เป็นที่นิยม ไม่มีคนใช้งานเพราะใช้งานยาก ผู้คนอาจจะบอกว่า "มันทำให้ฉันเหนื่อย มันไกล ไม่ชอบใช้" ก็คือ Design ไม่โอเค ถ้าเป็นศัพท์แสงด้านการออกแบบสื่อสมัยใหม่ ก็คือ User Interface (UI) เหมือนที่เราเปิดแอปพลิเคชันบางแอปขึ้นมาแล้วใช้งานมันได้อย่างคล่องแคล่ว หาอะไรก็เจอ ทำทุกอย่างได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้องแสดงว่าคนออกแบบสร้างแอปพลิเคชันได้สัมพันธ์กับผู้ใช้งานหรือเข้าถึงประสบการณ์ของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน หรือ User Experience (UX) หลักของ UX คือ การทำให้ทุกอย่างที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย สะดวกสบาย คล่องปรื๊ดดดด

เช่นเดียวกับการใช้งาน Smart Phone ต่างๆ ที่ผู้คนมักจะชอบแสดงพฤติกรรมเป็น ดาวไถ คือไถลงไถขึ้น มากกว่า การใช้นิ้วถ่างหุบไปมา ดังนั้น คนออกแบบก็ต้องออกแบบ User Interface ให้สัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) ซึ่งก็คือพฤติกรรมดาวไถ (ขึ้น-ลง) นั่นเอง 

หรือเวลาที่เราเข้าไปจองโรงแรมที่พักไม่ว่าจะเป็น Booking , Agoda , Expedia, Traveloka  หรือแม้แต่ Airbnb เราก็จะรู้สึกว่าบางเว็บไซต์ดู Friendly และใช้งานง่าย แสดงว่า UI ที่ออกแบบมาถูกนำมาวิจัย สอบถามจากผู้ใช้แล้วนำกลับไปพัฒนาแก้ไขจนออกมาสอดคล้องกับประสบการณ์ผู้ใช้ทำให้ผู้ใช้เกิดพฤติกรรมจริงตามที่แบรนด์หรือคนออกแบบต้องการ
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของซอสมะเขือเทศ ที่คนออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นขวดและมีฝาอยู่ด้านบนนั่นคืองานออกแบบหรือเปรียบได้กับ User Interface (UI) ที่ลูกค้ามักจะพบเจอเป็นเรื่องปกติ แตวันหนึ่งมีคนแคร์หรือใส่ใจเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ซอสมะเขือเทศมากขึ้น ด้วยความเข้มข้นของซอสมะเขือเทศที่อาจจะเทยาก ก็เลยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ฝาอยู่ด้านล่างหรือเป็นการกลับด้านของขวดนั่นเอง เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานซอสมะเขือเทศขวดนี้เทซอสลงในอาหารได้ง่ายขึ้น


บทสรุปก็คือ ก่อนจะออกแบบอะไร หรือ สร้าง User Interface ในสื่อใหม่ต่างๆ ควรจะทำความเข้าใจประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience) ก่อน เพื่อให้งานออกแบบที่นักออกแบบทั้งหลายสร้างสรรค์ขึ้นมา แมชชิ่ง สัมพันธ์หรือเชื่อมต่อกับประสบการณ์ผู้ใช้และนำมาซึ่งประสบการณ์ที่ดี

***User Interface หรือ UI เป็นคำที่เกิดขึ้นก่อน User Experience (UX) UI เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคที่มีคอมพิวเตอร์แรกๆ ส่วน UX เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 90 โดย Don Norman หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Nielsen Norman Group

วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สื่อสารแบรนด์ยุคนี้...ต้องยืมมือลูกค้าแชะ แชท แชร์


ในอดีตคนที่มีบทบาทในฐานะผู้บริโภคมักจะทำหน้าที่เป็นผู้รับสารเพียงอย่างเดียว ดู อ่านและดาวน์โหลด (ยุค 1.0)  โดยมีเจ้าของแบรนด์ พนักงานขาย พรีเซนเตอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร เมื่อมาถึงยุคสมัยของเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าอยู่ในมือของผู้บริโภคทุกคนทำให้ผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่สร้างสารและส่งสารไปถึงคนจำนวนมากได้ในเครือข่ายของเราและเพื่อนๆ ด้วย ผู้ส่งสารจึงเป็นทั้งผู้สงสารและผู้รับสารในเวลาเดียวกัน สามารถอัพโหลดหรือนำเสนอข้อมูลใดๆไปสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ (ยุค 2.0)  บทบาทของผู้บริโภคยุคใหม่จึงทำหน้าที่สร้างเนื้อหา สร้างสาร (User Generated Content) ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่บทบาทเช่นนี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน และในยุค 3.0 ผู้บริโภคสามารถกระโจนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสื่อสารในโลกดิจิทัลได้ 



เมื่อก่อนเวลาทำธุรกิจเราจะถูกสอนว่า แบรนด์ของเราจะเน้นทำธุรกิจแบบไหน Business to Business หรือ B2B เป็นการขายของระหว่างองค์กรกับองค์กรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือจะเน้นไปที่ Business to Consumer หรือ B2C เป็นการขายของกับลูกค้าโดยตรงเพื่อให้ลูกค้าซื้อไปใช้ไปบริโภค ดังนั้นโครงสร้างของการติดต่อและสื่อสารจึงเป็นแบบ องค์กรกับองค์กร องค์กรกับผู้บริโภค(ลูกค้า)


รูปแบบที่กล่าวมายังคงอยู่อย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการ คนทำธุรกิจและเจ้าของแบรนด์ควรจะเข้าใจว่า ทุกวันนี้ ลูกค้าสื่อสารกับลูกค้าด้วยกันเองหรือที่เรียกว่า Human to Human

ภาพจาก http://peacockplume.fr
จุดเชื่อมระหว่าง User Generated Content กับ Human to Human จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อลูกค้าไปพบเจออะไรที่  "น่าอัศจรรย์ มหัศจรรย์ น่าปลื้มปริ่ม ว้าว เซอร์ไพรส์ หรือเกินความคาดหวัง " ก็จะแชะหรือถ่ายคลิป แชทหรือพิมพ์ความคิดเห็นสุดแล้วแต่ว่าจะอวย จะชอบระดับใด จากนั้นก็แชร์ไปในสื่อสังคมออนไลน์ ถ้าลูกค้าคนนั้นมี Blog ก็เขียน Blog แล้วแชร์ ถ้าลูกค้าคนนั้นมี Facebook ก็ลงเรื่องราวที่พบเจอในเฟส ถ้าลูกค้าคนนั้นใช้ IG , Twitter ก็จะส่งเรื่องราวไปในช่องทางที่ตัวเองมี  
Related image


เมื่อลงเนื้อหาไปสักพักมีเพื่อนมาอ่าน มีเพื่อนของเพื่อนมาอ่าน ก็อาจจะชอบ เห็นด้วยหรืออยากจะแบ่งปันเนื้อหานั้นให้คนอื่นต่อไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ การสื่อสารระหว่างลูกค้าหรือคนสื่อสารกับคนด้วยกันเอง

ก่อนการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการใดก็แล้วแต่ ผู้บริโภคมักจะหาข้อมูลและไปอ่าน Blog อ่านข้อมูลในกระทู้พันทิป อ่านรีวิวตามช่องทางต่างๆ และที่สำคัญเราก็มักจะเชื่อในข้อมูลเหล่านั้น โดยที่เราก็ไม่เคยรู้จักคนเขียน คนรีวิวนั้นมาก่อน  จากในอดีตที่เรามักจะเชื่อและเคลิ้มไปกับสิ่งที่ดารา ผู้มีชื่อเสียงออกมาเชียร์ แนะนำผลิตภัณฑ์/บริการ หรือโฆษณาแบรนด์นั้น แต่ปัจจุบันอีกหนึ่งบุคคลที่เรามักจะเชื่อก็คือ "ใครก็ไม่รู้ที่เราก็ไม่รู้จักแต่เค้าไปมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้น" 

เอาล่ะ เราลองเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคมาเป็นเจ้าของแบรนด์ เจ้าของธุรกิจกัน เราจะใช้ประโยชน์จาก Human to Human หรือลูกค้าสื่อสารกันเองได้อย่างไร 

วิธีแรกที่เป็นวิธีพื้นฐานที่ทุกธุรกิจมักจะทำกัน คือ ถ้าลูกค้ามาใช้บริการก็ให้เค้ากดไลค์ เม้นท์แล้วแชร์ในเพจของเรา แลกกับโปรโมชั่นที่จะได้รับไม่ว่าจะเป็นส่วนลด การได้แถมสินค้า หรือสิ่งจูงใจ (Incentive) นั้น ส่วนผลลัพธ์ที่เจ้าของแบรนด์จะได้รับในด้านระดับของความเข้มข้นทางด้านความคิดเห็นและการเกิด impact จะค่อนข้างน้อย 

วิธีถัดมาที่อาจจะลองไปใช้ดูก็คือ ค้นหาจริตของลูกค้าส่วนใหญ่ คนเราชอบถ่ายรูป ถ่ายคลิปเนื้อหาแบบไหน แล้วแบรนด์ของเรามีเนื้อหาสาระแบบนั้นหรือไม่ เช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของร้านอาหาร ในเมนูของเรามีอยู่ประมาณ 100 รายการ ก็ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นทุกรายการ ขอให้เลือก "ไฮไลท์" บางรายการที่สามารถดึงมาเป็นลูกเล่นทางการตลาดให้คนถ่ายภาพ ถ่ายคลิป เช่น ร้านไอศกรีมที่ชื่อว่า Mo & Moshi มีเมนูไอศกรีมที่หลากหลาย แต่มีจะมีอยู่ 5-6 เมนูที่ลูกค้าเห็นแล้วจะต้องร้อง WOW ก็คือ ไอศกรีมที่มีขนาดถ้วยแบบมหึมาบิ๊กไซส์ด้วยสนนราคาหลักพัน ผลจากการทำเช่นนี้มีการแชร์ข้อมูลและรีวิวข้อมูลอยู่ในโลกออนไลน์ที่กระจายออกไปทั้งในประเทศและนอกประเทศ จนทำให้มีชาวต่างชาติหลายคนเข้ามาดู เข้ามาใช้บริการ 
ขอขอบคุณภาพจาก FB Art Thanyathorn





นอกจากจะไฮไลท์ที่ผลิตภัณฑ์แล้ว ถ้าเป็นร้านอาหาร ร้านขนม เครื่องดื่ม ต้องรู้จักสร้างจุดเด่นให้กับร้านอาหารควรให้ความสำคัญกับ "วิธีการนำเสนอหรือพรีเซนเทชั่นอาหาร" เพราะการพรีเซนเทชั่นอาหารอาจทำให้ลูกค้าตื่นตาตื่นใจแล้วก็อดรนทนไม่ได้ที่จะถ่ายภาพ ถ่ายคลิป อันเนื่องจากความวิจิตรบรรจง ความอลังการ ความมีเทคนิคบางอย่าง เช่น ร้านอาหารโอชา (OSHA) ที่มีวิธีนำเสนออาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจ เข่น ปอเปี๊ยะเป็ดรมควัน ใช้เทคนิคนำเสนอด้วยการรมควัน
ปอเปี๊ยะเป็ดรมควันเสิร์ฟด้วยเทคนิคการใช้การรมควัน
กุ้งแช่น้ำปลาเสิร์ฟกับใบโหระพาอ่อนและเชอร์เบทน้ำยำคล้ายไอศกรีม

เครื่องดื่ม Osha Shada 

ร้านขนมที่ชื่อว่า Mocking Tales แบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากเทพนิยายที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการ ความฝันอีกต่อไป แบรนด์นี้มี Reference มาจากภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast ก็มีการถ่ายทอดเมนูขนมไอศกรีมได้อย่างน่าสนใจ


การที่ลูกค้าสื่อสารกับลูกค้าด้วยกันเอง นอกจากจะเป็นผลดีกับแบรนด์แล้ว แบรนด์ก็ต้อง "ระวัง" สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ได้เช่นกัน หากแบรนด์มีการบริหารจัดการหรือมีกระบวนการที่ไม่ดี ผลิตภัณฑ์มีข้อบกพร่อง คุณภาพผลิตภัณฑ์หรือการบริการไม่ดี  เช่น ลูกค้าแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ไปแต่แบรนด์กลับเพิกเฉยไม่แก้ไข ก็อาจทำให้ลูกค้านำเรื่องราวเหล่านั้นไปสื่อสารผ่าน Facebook, Instagram, Twitter หรือ พันทิป รวมถึงบล๊อก เว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งช่องทางเหล่านี้จะทำให้เกิดการกระจายของข่าวสารในระดับหนึ่ง และเหตุการณ์ข่าวสารดังกล่าวจะกระจายมากขึ้นถ้ามี "นักข่าว" "สื่อในโลกออฟไลน์" "เพจดังต่างๆในออนไลน์" แชร์หรือนำข้อมูลเหล่านี้ไปกระจายบอกต่อ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับแบรนด์  ดังนั้นขอให้แคร์กับทุกกรณีที่ไม่ดีและเกิดขึ้นกับลูกค้า อย่าลืมนะครับ ยุคนี้ลูกค้ามีโทรศัพท์มือถือที่พร้อมจะถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายคลิป บันทึกเสียง เป็นหลักฐานไว้ได้อย่างง่ายดาย

เมื่อก่อนเราจะสื่อสารอะไรต้องคำนึงถึง กลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าเป้าหมาย  แต่วันนี้ แบรนด์กลับกลายเป็น เป้าหมายที่ลูกค้าจะคีย์ค้นหาเรื่องราวของแบรนด์ในโลกออนไลน์เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ และถ้าลูกค้าค้นหาไปในโลกออนไลน์แล้วเจอข่าวไม่ดี เรื่องราวฉาวของแบรนด์หลายๆ ข่าว
ก็จะนำมาซึ่งวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

จำไว้นะครับ อะไรที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ มันจะอยู่ในนั้นตลอดไป ไม่สามารถลบข้อมูล ความเห็นที่เป็นเรื่องไม่ดีของแบรนด์ออกไปได้ทั้งหมด เราควรสร้างแบรนด์ให้มีแต่ "ข่าวดี" "ประสบการณ์ดี" มีแต่คำชื่นชมแบรนด์มากกว่าการแสดงความระทมทุกข์ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์

Shirokujichu ข้าวในถังไม้สไตล์ญี่ปุ่น




วันสุดท้ายก่อนกลับเมืองไทย เราได้ไปช้อปปิ้งปิดท้ายกันที่ AEON MALL นาริตะ หลังจากเดินกันจนเย็นย่ำเรียบร้อย ท้องเริ่มหิว มื้อเย็นวันสุดท้ายเป็นมื้อที่เราไม่ได้วางแผนหรือมีพิกัดเป้าหมายใดๆ เลยทำให้เดินหาร้านที่อยู่ใน AEON MALL ที่มีทั้งอาหารไทยที่ชื่อร้านแก้วใจ แต่คงไม่ดีกว่าเพราะเดี๋ยวก็กลับไปกินที่เมืองไทย บุฟเฟ่ต์ก็ดูจะหนักหน่วงไป เลยไปสะดุดตาตรงหน้าร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Shirokujichu ดูอาหารที่ดิสเพลย์อยู่ในตู้ก็น่ากินดี เลยตกลงว่าเราจะฝากท้องมื้อเย็นที่นี่ 

รายการอาหารของร้านนี้จะเน้นไปที่ "ข้าวในถังไม้" พร้อมมีขั้นตอนวิธีการรับประทานที่ด้านข้างเมนูว่าคุณจะสนุกกับการกินข้าวในถังไม้อย่างไร ขั้นแรกก็นำข้าวออกมาจากถังไม้ใส่ถ้วยหรือใส่จาน ขั้นที่สอง เปลี่ยนรสชาติด้วยเครื่องปรุงต่างๆ จากนั้นก็เติมซอสเติมน้ำซุปเข้าไป อันนี้เป็นคำแนะนำ 


เมนูรายการอาหารค่อนข้างหลากหลายพอสมควร และแทบทุกเมนูจะมีการเสิร์ฟข้าวในถังไม้



เราสั่งกันไปคนละชุดหรือคนละเซ็ต ระหว่างรอก็ชงชาเขียวกันเอง โดยเติมตามแต่สภาพความเข้มของชาที่แต่ละคนต้องการ


จากนั้นอาหารก็มาเสิร์ฟแบบไล่เรียงกันไป จานแรกมาพร้อมกับไฟที่อุ่นแบบร้อนๆมาเลย วิธี presentation อาหารน่าสนใจ เมนูนี้ไม่ใช่ข้าวในถังไม้ แต่เป็นข้าวในกะทะร้อนแทน เสิร์ฟมาพร้อมสลัด น้ำซุป และมีถ้วยสำหรับใส่ซอสต่างๆ ซึ่งมีให้บริการอยู่บนโต๊ะแล้ว




สถานีต่อไป เป็นชุดนี้ครับ เป็นเมนูของทอดที่เสิร์ฟมาพร้องกับข้าวในถังไม้ และซุป สลัด งานนี้เลยต้องอวดข้าวในถังไม้กันสักหน่อย




ปิดท้ายด้วย ข้าวหน้าปลาไหลที่มาแบบเป็นเซ็ต ถ่ายภาพกันให้ดูทั้งระยะไกล และระยะใกล้ ในถาดนี้ก็ประกอบด้วย ข้าวหน้าปลาไหลบรรจุในถังไม้ กระติกน้ำร้อนที่ใส่ซุปไว้ ถ้วยเปล่า ซุป เครื่องเคียงที่เพิ่มอรรถรสการกินกับปลาไหลและซอสขาว



ทั้ง 3 รายการก็อิ่มแบบพอดีๆ กันไป ปิดท้ายด้วยค่าเสียหาย เมนูที่แพงสุดก็คือ ข้าวหน้าปลาไหล เบ็ดเสร็จค่าเสียหายอยู่ที่ 4,146 เยน หรือถ้าเทียบเป็นเงินไทย 1,243 บาท


อย่างที่บอกครับว่าเราไม่ได้วางแผนการกินมาล่วงหน้าว่าจะเป็นร้านไหน แต่จัดว่าเป็นร้านที่อาหารรสชาติดี และมาเต็มพอสมควร ถ้าใครไปปิดท้ายหรือแวะไปที่ Aeon Mall ลองไปใช้บริการร้านนี้เป็นทางเลือกหนึ่งก็ดีนะครับ พิกัดร้านแบบคร่าวๆ คือ อยู่ชั้น 1 ถ้าลงรถแล้วเข้ามาทางร้านสตาร์บัคส์ก็เดินตรงมาเรื่อยๆ เบี่ยงมาทางขวานิดหนึ่งแล้วเลี้ยวซ้าย ร้านจะอยู่ทางขวามือก่อนจะมาออกลานจอดรถอีกทาง

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

New Mindset กับการสร้างแบรนด์


ถ้าวันนี้เราพบว่า แบรนด์ของเราไม่มีอะไรใหม่ และผู้บริโภคก็เบื่อกับอะไรที่ซ้ำซากจำเจหรือรูปแบบอะไรก็ตามที่มันเดิมๆ อาจจะต้องค้นหา "ชุดความคิดใหม่" หรือ New Mindset ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่อาจจะพบกับ "ความเสี่ยง" ที่แบรนด์นั้นๆ จะต้องกล้าเสี่ยง

ตัวอย่างที่มักจะยกในห้องเรียนเสมอก็คือ กระดาษทิชชูแบรนด์ RENOVA ที่ตั้งคำถามจากชุดความคิดเดิมว่า "ทำไมกระดาษทิชชูต้องเป็นสีขาว" ในที่สุดแบรนด์ RENOVA ก็ก้าวไปสู่ชุดความคิดใหม่ด้วยการเปลี่ยนชุดความคิดของผู้บริโภคว่า เราจะทำให้ห้องน้ำของคุณเป็นห้องน้ำที่เซ็กซี่ หรือเรียกง่ายๆว่า มีอรรถรสในการเข้าห้องน้ำด้วยสีสันคัลเลอร์ฟูลนั่นเอง 







ทำไมพัดลมต้องมีใบพัด นำไปสู่ ชุดความคิดใหม่ที่ว่า แล้วถ้าพัดลมไม่มีใบพัดได้หรือไม่ และแล้ว John Dyson ก็พัฒนาพัดลมไม่มีใบพัดออกมาขายในที่สุดแถมยังกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งภายในบ้านได้อีกด้วย




โดยปกติเราจะคุ้นเคยกับ ร่มแบบเดิมๆ หุบลงมา จนมีคนพัฒนาร่มต้นแบบที่เรียกว่า Upside Down Umbrella หรืออาจจะเรียก Reverse Umbrella ช่วยแก้ปัญหาได้หลายๆอย่าง แต่การคลายปมปัญหาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ถ้าฝนตกแล้วท่านกางร่มแบบใหม่นี้ไปขึ้นรถยนต์ เมื่อหุบร่มลงจะทำให้คนใช้เปียกน้อยลงหรือแทบไม่เปียกเลย แถมยังเปิดประตูไม่ต้องกว้างมากก็หุบร่มนี้ได้อย่างง่ายดายไม่เก้ๆกังๆ (ลองดูในคลิปตัวอย่าง) 

ร่มแบบเดิมๆที่เราพบเห็นกันในชีวิตประจำวัน

ร่มที่เป็นโมเดลต้นแบบ แต่ยังไม่สามารถซ่อนโครงต่างๆได้ 
ภาพแสดงการใช้งานของร่มแบบใหม่

ตัวอย่างของร่มที่ได้รับการพัฒนาและไม่มีโครงหรือก้านของร่มอยู่ด้านบน
คลิปแสดงประโยชน์ของร่มแบบ Reverse Umbrella 

ครั้งหนึ่งแบรนด์น้ำแร่ PURRA ก็จับมือกับบรรดาดีไซน์เนอร์เสื้อผ้าออกแบบชุดหรือเสื้อผ้าให้กับขวดน้ำแร่เป็นการแต่งองค์ทรงเครื่องให้แบรนด์ และสร้างชุดความคิดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์น้ำแร่ในเวลานั้น ด้วยการสร้าง "จุดสนใจ" ให้กับแบรนด์ ลองนึกว่าถ้าเราเข้าไปยืนอยู่หน้าตู้แช่น้ำแร่ที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ น้ำแร่แบรนด์นี้ที่มีลวดลายและงานดีไซน์อยู่บนขวดก็น่าจะได้รับความสนใจและสะดุดตา




ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีนักออกแบบได้ทำโปรเจ็คท์ Minimalist Effect in the Maximalist Market ด้วยการนำบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นที่รู้จักกันดีมาลดทอนหรือทำให้งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ดูเบาลงภายใต้คอนเส็ปท์ Minimal ก็เป็นการเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ๆทางการออกแบบ 

ขอขอบคุณภาพจาก www.dezeen.com
เมื่อเร็วๆนี้ แบรนด์ SPRINKLE ได้มีการออกบรรจุภัณฑ์ภายใต้แนวคิดที่ว่า Unlimited Inspiration (แรงบันดาลใจมีได้ไม่มีวันหมด) โดยมีจุดเริ่มที่ว่า ทำไมขวดน้ำดื่มต้องใส และมีเป้าหมายจะออกทั้งหมด 30 เฉดสี โดยเดือนกุมภาพันธ์ ได้ออกคอลเลคชั่นเดือนแห่งความรักกับงานออกแบบ “BLOSSOM ME” สีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีของดอกไม้ที่เป็นตัวแทนแห่งความรักในเชิงบวก โดยจะขายในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2561 



ขอขอบคุณภาพจาก FB: Brand Inside

คอลเลคชั่น Blossom Me ออกมาชุดแรกและยังมีสีสันอื่นๆรวมแล้ว 30 เฉดสี
ถ้าวันนี้อยากให้แบรนด์มีอะไรใหม่ๆ ลองค้นหาชุดความคิดใหม่ๆกันนะครับ เพราะชุดความคิดใหม่ (New Mindset) อาจจะทำให้แบรนด์ได้มาซึ่งผลลัพธ์ใหม่ๆ (New Result) และช่วยเพิ่มเสน่ห์ ความเซ็กซี่ให้กับแบรนด์อีกด้วย 

วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข้าวแกงกะหรี่...คิงคอง


ช่วงเที่ยงของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เราวางแผนการกินกันว่าจะไปกินข้าวแกงกะหรี่ที่ชื่อว่า  GO! GO! CURRY! ที่มีสัญลักษณ์รูป "คิงคอง" บนพื้นสีเหลืองและสีตัวข้อความสีแดง เราออกเดินจากโรงแรม Gracery ไปเรื่อยๆ จนไปจบที่ร้านนี้เป็นสาขาที่อยู่ด้านหลังห้าง Shinjuku Marui เราไปถึงในเวลาที่ยังไม่ใช้เวลามื้ออาหาร คนก็ยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่  เพื่อเป็นการยืนยันว่ามาถึงหน้าร้านก็ แชะ กันสักหน่อย



เมื่อเดินเข้าไปก็จะไปงมๆ และ งงๆ กับเครื่องสั่งอาหารนี้ ระบบการสั่งอาหารของร้านนี้ก็คือ เลือกกดเมนูและขนาดจานที่ต้องการ ใส่เงิน และรับเงินทอน พร้อมกับสลิปรายการอาหาร ขอบอกว่าข้าวแกงกะหรี่หมูทอดคือเมนูเด็ดของที่นี่ และจานใหญ่มาก  ด้านล่างของสาขานี้จะมีพื้นที่เล็กๆ ด้านหลังเครื่องนี้ก็จะเป็นส่วนของครัวที่ทำอาหารและส่งไปเสิร์ฟด้านบนด้วยลิฟท์ส่งอาหาร




ได้มาเรียบร้อยสำหรับสลิปอาหารที่ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ราคาของแต่ละจานจะอยู่ด้านล่าง มี 630 790 และ 880 เยน


จากนั้นเราก็จะขึ้นไปบนชั้น 2 ทางขึ้นหรือบันไดก็จะแคบๆ เมื่อถึงชั้น 2 ก็ยื่นสลิปที่ออกมาจากเครื่องให้กับพนักงานพร้อมกับหาโต๊ะนั่งเตรียมกิน ประมาณ 2-3 นาที อาหารก็ถูกนำมาเสิร์ฟ ท่ี่นี่บริการน้ำดื่มฟรี เติมได้ตลอด  เรามาดูหน้าตาของข้าวหน้าแกงกะหรี่หมูทอดกันเลย จานใหญ่มาก (ใครสู้ไม่ไหวสั่งจานเล็กได้นะครับ) น้ำแกงกะหรี่มาเป็นนองชุ่มเต็มจาน โปะด้วยหมูทอดจนแทบไม่เห็นข้าว แล้วก็มีกะหล่ำปลีหั่นฝอย กะหล่ำปลี มายองเนส สามารถเติมได้ตลอดแต่จะต้องไปเติมเอง บริการตัวเองนะครับ






ถ้าต้องการเพิ่ม Topping ใดๆ ก็สั่งได้ จานด้านล่างนี้เพิ่มชีส ถ้าจำไม่ผิดจ่ายเพิ่ม 100 เยน


เครื่องเคียงแก้เลี่ยนมีมาให้กระปุกใหญ่มาก


มุมที่ลูกค้าสามารถไปเติมน้ำดื่ม กะหล่ำปลี และมายองเนสได้ตามอัธยาศัย



หลังจากผ่านศึกสงครามการกินเรียบร้อยนี่คือ สภาพหลังกินเสร็จ

หลังจากจัดการข้าวแกงกะหรี่จานใหญ่หมดแล้ว ตอนเดินออกมาจากร้านพบว่า คนยืนเข้าแถวตรงบันไดทางขึ้นเยอะมากเพื่อรอที่นั่งว่าง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของมื้ออาหารเที่ยงพอดี ร้าน Go Go Curry น่าจะเป็นที่ที่เหมาะสำหรับพนักงานออฟฟิศที่อาจจะใช้เวลาไม่นานนักในการสั่งและรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว