วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

รีวิวอย่างไรไม่ให้เดือดร้อน

คำว่า“รีวิว”น่าจะเป็นคำฮอตฮิตในช่วงนี้รวมถึงในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารการตลาด จนทำให้เป็นสงครามของการรีวิวเต็มไปหมด 
  • ยุคที่ดารา นักแสดง คนดังมีพื้นที่ของตัวเองในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram Twitter และมียอดผู้ติดตามที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับดารา นักแสดง คนดัง เพื่อรับงานโฆษณา โปรโมทสินค้าต่างๆ
  • ยุคที่ผู้รับสาร ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนบทบาทหรือสถานะมาเป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น รีวิวผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆที่ตนเองไปกิน ดื่ม ช้อป และใช้บริการ ผู้บริโภคบางคนก็สร้างความโดดเด่นเฉพาะให้กับตนเองด้วยการสร้าง Blog ขึ้นมาจนมีชื่อเสียงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น รีวิวโรงแรม ที่พัก รีวิวเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความงาม เป็นต้น
  • ยุคที่แบรนด์ต้องพึ่งพาผู้มีอิทธิพลมากมายเพื่อให้แบรนด์นั้นสามารถ "ซอกซอน" เข้าไปหาลูกค้าเป้าหมายได้แบบกระชับพื้นที่และมีรายได้จากยอดขายตามมา เราก็จะได้ยินศัพท์แสงเก่าใหม่ผสมกันไป เช่น Online Influencer, KOL (Key Opinion Leader) , Micro Influencers
ถ้าแปลด้วย Google Translate หรือจะแปลแบบกำปั้นทุบดิน คำว่า “รีวิว หรือ Review” คือ ทบทวน ถ้าแปลแบบนี้อาจจะงงๆ มันก็คือการที่เรามีประสบการณ์บางอย่างกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ผลิตภัณฑ์ บริการ ภาพยนตร์ อีเว้นท์ หรือสิ่งอื่นใดก็แล้วแต่) แล้วอยากจะนำสิ่งนั้นมาแบ่งปัน ก็เลยนั่งคิด “ทบทวน” เรื่องราวของสิ่งที่จะรีวิวนั้น (เหมือนเพลงผู้ชายในฝันที่บอกว่า ตีห้าไม่ถึงก็จวน คิดทบทวนเรื่องฝันชั้นดี ขนาดฝันยังต้อง รีวิว เลย) เช่น ถ้ามีประสบการณ์ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อการบรรเทาน้ำหนักลงแล้วประทับใจก็รีวิวถึงคุณงามความดีของผลิตภัณฑ์นั้นและอาจจะมีการบอกถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ ถ้าไปดูหนัง Avengers Infinity War มาแล้วประทับใจสุดๆ อยากจะแสดงความคิดเห็น แชร์ให้คนอื่นได้อ่าน แนะนำให้คนอื่นไปชมก็อาจจะนั่งทบทวนแล้วเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ทั้งนี้การรีวิวอาจจะต้องมีทั้งมุมบวกและลบ ข้อดีและข้อเสีย จุดเด่นและจุดที่ควรระวัง
รู้จักรีวิว 3 แบบ การรีวิวที่เรามักจะพบเห็นกันในชีวิตประจำวันก็จะมีอยู่ 3 แบบคือ แบบที่ 1 การรีวิวแบบให้ผลิตภัณฑ์กับผู้รีวิวไปใช้หรือหากเป็นธุรกิจบริการก็คือการเชื้อเชิญให้ผู้รีวิวไปใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องกลับมารีวิวให้ หรือเรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนหรือ Barter กันระหว่างผู้รีวิวกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยบุคคลที่รีวิวนั้นอาจจะเป็นดารา นักแสดง คนดัง บล็อกเกอร์ หรือ Online Influencer ใดๆในโลกนี้ สรุปก็คือ “ได้ของฟรีมา รีวิวแลกเปลี่ยนกลับไป”
แบบที่ 2 การรีวิวแบบการว่าจ้างด้วยการให้ผลิตภัณฑ์ฟรีหรือใช้บริการฟรีและเมื่อรีวิวแล้วให้ค่าตอบแทนในการรีวิวด้วย อันนี้เรียกว่า ป๋าสุดๆ ดังนั้นโอกาสที่เนื้อหาในการรีวิวจะเป็นไปในทิศทางบวกจะค่อนข้างมาก สรุปก็คือ “ได้ของฟรี รีวิวแล้วได้เงินด้วย”
แบบที่ 3 การรีวิวแบบไม่มีการว่าจ้างใดๆ ผมชอบเรียกมันว่า รีวิวด้วยเสน่หา ปลื้มปริ่ม และอยากบอกสิ่งดีๆให้กับผู้คน เพื่อนได้รับทราบถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอมา รีวิวรูปแบบนี้คนรีวิวมักจะเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือดั้นด้นไปใช้บริการและเสียค่าบริการเอง ไม่มีการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบฟรีๆ และไม่มีการรับค่าตอบแทนในการเขียนรีวิว ซึ่งแน่นอนว่าเราจะพบความจริงจากการรีวิวแบบนี้ เช่น ข้อมูลที่รีวิวอาจจะมีทั้งบวกและลบ ถ้าประทับใจในสิ่งนั้นมากก็อาจจะบวกมากหน่อยลบน้อยหน่อย หากคนที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือจากการรีวิว ควรจะให้ข้อมูลหรือความเห็นที่รอบด้านและเป็นจริง เพื่อต่อยอดความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้คนมาติดตามเราอีก สรุปแบบนี้ก็คือ “รีวิวด้วยเสน่หาและอารมณ์ปลื้มปริ่ม” อย่างใน pantip เราจะเห็นตัวย่อที่กำกับอยู่กับกระทู้ที่เป็นการรีวิว เช่น CR ย่อมาจาก Consumer Review ก็คือ ผู้รีวิวไปซื้อหรือใช้บริการด้วยเงินตัวเองแล้วรีวิวเองไม่มีการจ้างวาน และ SR ย่อมาจาก Sponsored Review คือมีคนให้ผลิตภัณฑ์หรือมอบข้อเสนอให้ไปใช้บริการฟรี แลกเปลี่ยนกับการเขียนรีวิวให้ โดยสรุปแล้ว การจะรีวิวอะไร ผู้รีวิวจะต้องมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นๆก่อน ไม่ว่าจะเป็น ต้องเคยใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาแล้ว ใช้เครื่องสำอางนั้นมาแล้ว ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นอย่างจริงจังแล้ว ไปชมภาพยนตร์เรื่องนั้นมาแล้วและนำมารีวิว(แต่อย่าสปอยล์นะ) ได้ไปใช้บริการก็คือนอนที่โรงแรมหรือที่พักนั้นๆแล้ว เคยไปใช้บริการร้านอาหารนั้นแล้วสัมผัสทั้งรสชาติอาหาร สัมผัสทั้งบริการ
รีวิวไม่ดี เดี๋ยวชื่อเสียงจะปลิวนะ เราลองมาดูวิธีรีวิวอย่างไรให้ปลอดภัย
1.ก่อนรีวิวต้อง กิน ดื่ม ใช้ สัมผัสกับผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมาแล้ว ทำตัวเป็นผู้บริโภค เมื่อมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นแล้วเราอยากจะบอกอะไรให้เพื่อน คนที่ฟอลโลว์เราได้ทราบ ถ้าเราเป็นคนดัง ดารา นักแสดง ก็จะเป็นนักแสดง คนดังที่อยู่ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งและสิ่งที่รีวิวออกมาจะมี “ความจริงใจ” ถ่ายทอดออกมาด้วย
2.ความอ่อนไหวในการรีวิวของผลิตภัณฑ์หรือบริการแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้รีวิวจะต้องตระหนักว่าการรีวิวผลิตภัณฑ์หรือบริการแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีความอ่อนไหวเพราะต้องบริโภคเข้าสู่ร่างกาย เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องกินเข้าไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือครีมบางชนิดเมื่อผู้บริโภคบางคนใช้ไปแล้วอาจทำให้หน้าพังและเราคงไม่สามารถเอาหน้าเดิมของเค้ากลับมาได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้รีวิวอาจจะต้องมีความรับผิดชอบก่อนที่จะอวดอ้างสรรพคุณใดๆทั้งในด้านการตรวจสอบบริษัทที่ผลิตสินค้า การตรวจสอบเลข อย. การดูข้อมูลต่างๆ จนถึงระดับสูงสุดคือ ผู้รีวิวอาจจะต้องเป็น “หนูทดลอง” สินค้า หรือบริการนั้นซะเอง เพราะจริงๆแล้ว การรีวิว ก็คือ ผู้รีวิวต้องมีประสบการณ์กับสิ่งนั้น ทั้งนี้การรีวิวผลิตภัณฑ์ที่ต้องกินก็จะแตกต่างจากการรีวิวที่พัก โรงแรม ที่อาจจะเกิดผลกระทบในเชิงเสียหายได้น้อยกว่า
3.ศึกษากฎหมาย พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ เพราะแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีข้อห้าม การใช้คำอวดอ้างสรรพคุณบางลักษณะ เช่น ในอดีตมีดารา นักแสดงบางท่านได้นำเสนอภาพของเบียร์ยี่ห้อหนึ่งพร้อมกับการมีแฮชแท๊กที่บอกถึงรสชาติของเบียร์หรือจุดจำหน่าย กรณีนี้ก็เข้าข่ายการโฆษณา แต่กฎระเบียบของการโฆษณา ห้ามโฆษณาแบบนี้ ในเวลานั้นจึงมีคำเตือนสำหรับดารา นักแสดง คนดังว่า ห้ามนำภาพเบียร์ขึ้นใน IG
4.ให้นึกถึง “ชื่อเสียง” ที่สั่งสมมาของตัวเอง ผมเชื่อเหลือเกินว่า ชื่อเสียงของดารา นักแสดง คนดังหลายๆท่านไม่ได้สร้างขึ้นในวันเดียว มันเกิดจากการสั่งสมชื่อเสียง รักษาชื่อเสียง ดังนั้นการจะรีวิวอะไรก็แล้วแต่ อย่าให้ค่าตอบแทนของเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เรารู้สึกคลางแคลงสงสัยในคุณสมบัติมาบั่นทอนชื่อเสียงที่เราสร้างมายาวนาน มันไม่คุ้ม ถ้าตัวเรายังไม่กล้าทดลองใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ก็อย่าไปเสียดายเงินค่าตอบแทนนั้นเลย เสียดายชื่อเสียงของเราดีกว่า
เจ้าของธุรกิจต้องคิดถึงความยั่งยืน
การรีวิวที่มีการจ้าง มีค่าตอบแทนให้กับผู้รีวิวจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเจ้าของแบรนด์ที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนค่าตอบแทนในการรีวิว ถ้าเจ้าของธุรกิจต้องการขายของครั้งเดียวแล้วเลิก คุณภาพเป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ ความปลอดภัยต่อร่างกายเราไม่สน นั่นอาจจะเข้าข่ายรวยแล้วเลิก หรืออาจจะรวยแล้วคุก คุก คุก แต่ถ้าเราไม่ใช่เจ้าของธุรกิจแบบที่ว่า จะต้องจริงจังกับการสร้างชื่อเสียงด้วยการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ แสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับผู้บริโภค และบริหารแบรนด์ด้วยความจริงใจ ในยุคนี้ที่เรียกว่า 4.0 หรือจะ 5.0 6.0 แบรนด์ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค วันนี้ผู้บริโภคเค้าคุยกันเอง แบรนด์ต้องประพฤติตัวให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราจริงใจ เรารับผิดชอบ เรามีคุณภาพ ดีกว่าให้ลูกค้ารู้สึกว่า แบรนด์เราตอแหล ไม่แยแสที่จะรับผิดชอบ กอบโกยกำไร
ผู้บริโภคยุคนี้ต้อง Strong ทุกวันนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีอยู่ในมือของพวกเราทุกคน เราสามารถค้นหา อ่าน เปรียบเทียบข้อมูลได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องเสริมสร้างความสตรองให้กับตัวเองใน 4 เรื่อง
1.Strong ด้วยการหาข้อมูลผ่านสิ่งที่อยู่ในมือท่าน คือ โทรศัพท์มือถือหรือ อุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆ ไม่ใช่แค่เลข อย. แต่ลึกไปถึงการรีวิวในหลายๆมิติ อย่าเชื่อแหล่งข้อมูลเดียว การเข้าไปเยี่ยมชมเฟสบุ๊คของแบรนด์ ลองดูว่า ยอดผู้คนติดตามเท่าไหร่ แล้วในแต่ละโพสต์มีคนสนใจกดไลค์ หรือเม้นท์มากน้อยเพียงใด บางทีเราอาจจะเจอแบรนด์ที่ยอดไลค์เพจเพียบ ถล่มทลายมีคนติดตาม หลัก 100,000 คน แต่คนกดไลค์โพสต์อยู่ที่หลัก 10 มันเป็นไปได้ไหม
2.Strong ด้วยมุมมองที่ว่า “รับผิดชอบต่อชีวิตของตัวท่านเอง” อะไรก็ตามที่มีการบริโภคผ่านปากเข้าไป การฉีดเข้าไป มันย่อมเป็นเรื่อง Sensitive การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ยา อาจอันตรายกว่าการไปใช้บริการโรงแรม ดูภาพยนตร์ เพราะมัน Effect ต่อร่างกาย สุขภาพ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
3.Strong ต่อการไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วยวนที่เรียกว่า Promotion ลด แลก แจก แถม ควรมีความสมเหตุสมผล ผู้บริโภคหลายคนมักจะมีความอ่อนไหวต่อราคาผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูก (Price Sensitivity) ลองพิจารณาดูว่า มันถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในตลาดเดียวกันหรือถูกกว่าแบรนด์อื่นจนผิดสังเกตหรือไม่ ถ้าท่านตั้งคำถามหรือนึกในใจว่า “ขายได้ยังไงราคานี้” แสดงว่ามันน่าสงสัยแล้ว
4.Strong ต่อการไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ และไม่ต้องรีบร้อนตัดสินใจซื้อ ถ้าของมันดี ยังไงมันก็อยู่ที่ร้าน อยู่ที่เว็บ บางเว็บที่มีลูกค้ามักไปโพสต์รีวิว เค้าจะแบ่งเลยว่า เป็น Sponsored Review หรือ Customer Review ลองสังเกตดู รีวิวที่น่าเชื่อถือควรจะเป็นรีวิวที่มาจากประสบการณ์การใช้งานสินค้านั้นจริง ซึ่งรีวิวพวกนี้ย่อมมีทั้งบวกและลบ อาจจะมีเชิงบวก 5 เชิงลบ 2 อย่างน้อยผลิตภัณฑ์นั้นก็ไม่ได้เพอร์เฟ็คท์ไปซะทุกอย่าง
ถ้าวันนี้เราเป็นผู้บริโภค เราจะพบเห็นสงครามของการรีวิวมากมาย รีวิวไหนควรเชื่อ รีวิวไหนควรชิ่ง เราคงต้องนั่ง “ทบทวน” รีวิวนั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น