วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Brand Character สร้างแบรนด์ให้มีชีวิต ใส่จริตจะก้านให้แบรนด์



Brand Character สร้างแบรนด์ให้มีชีวิต ใส่จริตจะก้านให้แบรนด์

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์
ภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เมื่อเราได้ไปตามงานอีเว้นท์ที่มีการรวมตัวกันของแบรนด์มากมาย สีสันของอีเว้นท์ก็จะมีมากมายตั้งแต่ แม่เหล็ก(Magnet) ที่ดึงดูดผู้คนให้มางานทั้งความแปลกใหม่ นวัตกรรมที่พลาดไม่ได้ เซเลปดาราชื่อดังที่อยู่ในกระแส กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอีเว้นท์ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆที่ถูกรวบรวมอยู่ในอีเว้นท์นั้น เป็นต้น

ผมได้มีโอกาสเข้าไปชมงาน THAIFEX - World of Food Asia 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ แน่นอนว่ามีผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ มาปรากฏอยู่ในงานนี้กันเพียบทั้งในและต่างประเทศ

สีสันหนึ่งที่พบเห็นตั้งแต่ปีที่แล้ว (2017) จนถึงปีนี้ก็คือ การเพิ่มสีสันให้กับแบรนด์ด้วย Character หรือบางตำรับตำราจะเรียกว่า มาสคอต (MASCOT) ภาษาไทยบางคนจะเรียกว่า ตัวนำโชค 

Brand Character ก็คือ อะไรก็ตามที่แบรนด์นั้นสร้างขึ้นเพื่อเจตนาให้มีชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณ อารมณ์ ความรู้สึกและยังทำหน้าที่เป็นเสมือนทูตของแบรนด์ (Brand Ambassador) ในการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้า และยังสามารถช่วยถ่ายทอดบุคลิกภาพของแบรนด์ผ่านคาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นนั้นได้ด้วย  คำว่า “อะไรก็ตาม” แล้วมันเป็นอะไรได้บ้างเราลองมาดูกัน
        1.คาแรคเตอร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยถอดรหัสจากผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ถอดรหัสจากประเภทของผลิตภัณฑ์ ถอดรหัสมาจากรูปทรงของสินค้า เป็นต้น  ถ้าขายชา อาจจะสร้างตัวคาแรคเตอร์ที่ชื่อว่า น้องใบชา ขึ้นมา อย่างในภาพด้านล่างเป็น Cha-man & Tea-Chan ของ Charoma Tearapy  ผลิตภัณฑ์ซอสไฮนซ์ ก็เป็นรูปน้องมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว IF ก็ออกแบบมาเป็นลูกมะพร้าว  ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์นมของแบรนด์ VINAMILK  ก็จะใช้เป็นตัวคาแรคเตอร์ของวัว 








        2.คาแรคเตอร์ที่สร้างจากชื่อแบรนด์ เช่น แบรนด์ที่ชื่อ STAR ก็อาจจะมีตัวคาแรคเตอร์เป็นรูปดาว หรือแบรนด์ปุ้มปุ้ยปลายิ้ม (Smiling Fish) ก็ออกมาเป็นคาแรคเตอร์ปลายิ้ม 



        3.คาแรคเตอร์ที่ออกแบบมาจากรูปทรงของผลิตภัณฑ์ รูปทรงบรรจุภัณฑ์แล้วผ่านกระบวนการออกแบบให้ดูสวยงาม เหมาะสมและมีลูกเล่นต่างๆ รูปแบบนี้อาจจะไม่ได้ใช้เป็นแบรนด์คาแรคเตอร์อย่างจริงจัง แต่ใช้เป็นลูกเล่น (Gimmick) ในการสื่อสารตามงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อสร้างสีสันและเป็นการเชื้อเชิญ เชิญชวนหรือบอกว่าบูธของแบรนด์นี้อยู่ตรงนี้ เห็นปุ๊ปทราบทันทีว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ในงานอีเว้นท์ประเภท Consumer Product มักจะใช้รูปแบบนี้ค่อนข้างเยอะ ลองดูจากตัวอย่างด้านล่าง 










        4.คาแรคเตอร์ที่สร้างมาจากสัตว์และผ่านกระบวนการดัดแปลงตัดแต่งทางพันธุกรรมให้ดูน่ารักและสามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพ(Brand Personality) ของแบรนด์ได้ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ มังกรบาบิกอนของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าที่ได้รับการสร้างขึ้นมาจนเป็นมังกรที่มีชีวิต ใช้ในการสื่อสารผ่านโฆษณา การส่งเสริมการขายอย่างที่ครั้งหนึ่งมีการจัดทำของรางวัลในกิจกรรมล่าไข่บาร์บีกอนโดยใช้คาแรคเตอร์ของบาร์บีกอน การสื่อสารในเฟสบุ๊คแฟนเพจ การสื่อสารเรื่องราวต่างๆของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า การต่อยอดมังกรบาร์บีกอนไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง เตาอบ กาต้มน้ำ โดยการจับมือกับแบรนด์ Anitech





คาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นมาจากสัตว์จะสามารถใส่รายละเอียดของความน่ารัก นิสัยใจคอเข้าไปได้เพื่อดำเนินเรื่องให้คาแรคเตอร์นั้นมีชีวิตชีวา สนุก ร่าเริงหรือเป็นไปในทิศทางที่แบรนด์ต้องการ 

แบรนด์ข้าวตราไก่แจ้
แบรนด์แมลงไฮโซ
แบรนด์แมลงไฮโซ


        5.คาแรคเตอร์ที่ดึงมาจากโลโก้ของแบรนด์ เช่น แบรนด์เถ้าแก่น้อย ก็นำสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเป็นรูปเถ้าแก่น้อยมาเป็นแบรนด์คาแรคเตอร์




        6.คาแรคเตอร์ที่มาจากการสร้างขึ้นมาใหม่แล้วตั้งชื่อคาแรคเตอร์นั้นให้มีการเชื่อมโยงกับแบรนด์ บางตัวเราเห็นแว๊บแรกอาจจะยังไม่รู้ว่าอะไร แต่เมื่อเชื่อมโยงกับแบรนด์ก็จะเกิดอาการ อ๋อ บางทีตัวคาแรคเตอร์นั้นอาจจะถอดมาจากบุคคลที่เป็นเจ้าของแบรนด์ก็ได้นะครับ 







หากแบรนด์ใดต้องการจะมีแบรนด์คาแรคเตอร์ ควรคำนึงหลักง่ายๆว่า ต้องเหมาะกับแบรนด์ เมื่อนำแบรนด์คาแรคเตอร์มาจัดทำเป็นหุ่นให้มีชีวิตแล้วต้องทำให้ผู้คนเห็นแล้วอยากจะเดินเข้ามาหา ทักทายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กวิ่งเข้าหา ไม่ใช่ออกแบบมาแล้วเด็กวงแตกวิ่งหนีกันกระเจิงแถมพากันร้องไห้กลัวอีกต่างหาก อย่าลืมออกแบบท่าทาง อิริยาบถ เพื่อเพิ่มความน่ารักและความเป็นมิตรให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  และควรเตรียมท่าประจำสำหรับ Action ถ่ายภาพกับลูกค้าเป้าหมาย อย่างที่ผมไปงาน Thaifex สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตัวแบรนด์คาแรคเตอร์แทบทุกตัวมีท่าประจำเมื่อเรายกกล้องขึ้นถ่ายภาพ เรียกว่า รู้งานนั่นเอง 





หลังจากที่แบรนด์ได้สร้างคาแรคเตอร์หรือมาสคอตขึ้นมาแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ เรามาดูกัน

        1.นำแบรนด์คาแรคเตอร์นั้นไปใช้ในการสื่อสารผ่านจุดสัมผัสแบรนด์ต่างๆอย่างกลมกลืนและเหมาะสม เช่น นำมาสร้างสีสันในอีเว้นท์ ให้แบรนด์คาแรคเตอร์เป็นตัวเล่าเรื่องในสื่อโฆษณาของแบรนด์ ในคลิปที่จะใช้ในการสื่อสารแบรนด์  เป็นต้น อย่าตั้งใจยัดเยียดการใช้แบรนด์คาแรคเตอร์ขอให้พิจารณาว่าจุดสัมผัสแบรนด์นั้นๆ ควรจะใช้แบรนด์คาแรคเตอร์หรือไม่ ถ้าใช้แล้วพบว่ามันไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆให้กับแบรนด์ทั้งในเชิงกลยุทธ์และการสื่อสารแบรนด์ก็ควรยุติการใช้
        2.ใช้แบรนด์คาแรคเตอร์ในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณบุคลิกภาพ ความมีชีวิตชีวาให้กับแบรนด์ในทิศทางที่คงเส้นคงวา อย่าให้แบรนด์คาแรคเตอร์เป็นไบโพล่ามีบุคลิกแกว่งไกวไปมาเด็ดขาด
        3.นำแบรนด์คาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นให้ไปเชื่อมต่อให้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
        4.ใส่เรื่องราวให้กับแบรนด์คาแรคเตอร์อย่างต่อเนื่อง ให้คิดว่าแบรนด์คาแรคเตอร์ก็คือ คนหนึ่งคนที่มีชีวิต มีลมหายใจ และมีการดำรงอยู่
        5.ต่อยอดเชิงธุรกิจให้กับแบรนด์คาแรคเตอร์ เช่น ผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก เช่น ถ้าแบรนด์คาแรคเตอร์เป็นสัตว์น่ารักๆ อาจจะนำไปทำเสื้อยืดลายสัตว์ชนิดนั้น หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ตุ๊กตา พวงกุญแจขายเป็นที่ระลึก 
Brand Character ของ The Verona at Tub Lan 
แบรนด์คาแรคเตอร์สามารถนำไปใช้กับอะไรได้บ้าง ต่อไปนี้เป็นเช็คลิสต์ให้ไว้แต่การใช้ต้องให้มีความเหมาะสมและเชื่อมโยงกับแบรนด์ ช่วยเสริมแบรนด์
        -นำไปใช้กับกิจกรรม อีเว้นท์ เพื่อเพิ่มสีสันและได้ผลลัพธ์ในด้านการถ่ายภาพ การกระจายในโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ต่อไป
        -นำไปใช้กับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา ในคลิปหรือสื่อโฆษณาต่างๆ 
        -นำไปใช้ในการส่งเสริมการขาย การทำโปรโมชั่นแต่อย่ายัดเยียดในการขายของ นำไปใช้ประกอบได้
        -นำไปใช้ประกอบอยู่บนบรรจุภัณฑ์
        -นำไปใช้ในการสื่อสารผ่านจุดสัมผัสแบรนด์ออนไลน์
        -นำไปใช้ในการสร้างเป็นสินค้าที่มีแบรนด์คาแรคเตอร์เพื่อขาย
        -นำไปใช้เป็นสื่อ ณ จุดขาย หรือจุดให้บริการ
        -นำไปใช้ในการสื่อสารข้อมูลใดๆของแบรนด์แทนการใช้คน เพื่อลดระดับความจริงจังของการให้ข้อมูลด้วยภาษาของแบรนด์คาแรคเตอร์นั้น

          Brand Character หรือจะเรียกว่ามาสคอต ตัวนำโชคหรือหุ่นตุ๊กตาใดๆก็แล้วแต่ เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วจะช่วยทำให้แบรนด์มีชีวิตชีวาขึ้นมาผ่านจริตจะก้านที่ฝังเข้าไปในตัวแบรนด์คาแรคเตอร์ ขออย่างเดียวอย่าให้แบรนด์คาแรคเตอร์นั้นมีอาการซึมเศร้า รวมถึงไบโพล่าร์เป็นอันใช้ได้ครับ